![](https://site.bsru.ac.th/ict/wp-content/uploads/2023/06/รู้หรือไม่-44-1024x1024.png)
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การใช้แอปพลิเคชั่น (Mobile Application) สำหรับธุรกิจได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากอัตราการใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมถึงยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนสูงถึง 1,400 ล้านครั้งต่อปี เป็นผลให้องค์กรต่าง ๆ ต้องการแอปฯ เพื่อทำการตลาด และสื่อสารกับลูกค้า
Mobile Application คือ 📱
Mobile Application หรือที่เรียกว่า Mobile App เป็นซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่งที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานบนอุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค หรือแท็บเล็ต ซึ่งแอปพลิเคชันจะทำหน้าที่คล้ายโปรแกรมที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ PC แต่มีขนาดเล็กกว่า ใช้งานได้ง่าย อาจมีฟังก์ชันจำกัด แต่รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์พกพา
เบื้องต้นฟังก์ชันการใช้งาน Mobile App มักถูกออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน อาทิ การโอนเงินผ่านแอปฯ การซื้อสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหาร จองคิวร้านอาหาร แชทพูดคุย ดูภาพยนตร์ หรือคลิปวิดีโอ แอปฯ สำหรับการจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ (เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น) รวมถึงเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
ประโยช์ของ Mobile Application 💡
หลักๆ แล้ว ประโยชน์ของ Mobile Application มีด้วยกัน 2 ด้าน คือ เจ้าของแอปฯ หรือผู้ให้บริการ และผู้ใช้งาน/ลูกค้า
ในมุมของผู้ให้บริการ แน่นอนว่าจะช่วยเรื่องการสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย มีช่องทางการสื่อสารเพิ่มขึ้น สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัย และเป็นแบรนด์ที่แสดงให้เห็นว่าก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและตอบรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา
ในส่วนของฝั่งผู้ใช้งานหรือลูกค้า การมีแอปพลิเคชันช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเดินทาง ลดขั้นตอนการติดต่อ และลดเวลาที่ต้องเสียไป
Mobile Application มีกี่ประเภท 📲
จุดประสงค์ในการทำแอปพลิเคชัน ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของคุณต้องการมีอะไร หลัก ๆ แล้วแอปฯ ที่ประสบความสำเร็จ มี 6 ประเภท ดังนี้
1. Loyalty Apps ➢
แอปฯ ประเภทนี้จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงส่วนลด และข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ ของแบรนด์ได้ หรือเป็นแอปฯ ที่มีโปรแกรมสะสมคะแนน เช่น Starbucks Rewards, Beauty Insider ของ Sephora และ 7-Eleven TH
2. Interactive Apps ➢
Interactive Apps หรือแอปฯ แบบตอบโต้ เหมาะกับสำหรับการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และสร้างประสบการณ์ร่วม โดยมากแอปฯ ประเภทนี้มักมีองค์ประกอบของเกมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น แอปฯ เกม Zombies, Run เป็นแอปฯ สำหรับการวิ่งออกกำลังกาย ที่ทำให้การวิ่งเป็นเรื่องสนุก
3. Content Apps ➢
คอนเทนต์แอปฯ เป็นแอปฯ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ธุรกิจซอสปรุงรส มีแอปฯ เพื่อให้ข้อมูลสินค้า และสูตรอาหาร หรือแอปฯ ขององค์กรสื่ออย่าง The New York Times และ My Thairath ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
4. Customer Service Apps ➢
Customer Service Apps หรือแอปฯ สำหรับบริการลูกค้า เช่น การรวบรวมคำถามที่พบบ่อย FAQ หรือการมี Chatbots เพื่อตอบคำถามจากลูกค้า หรือให้การช่วยเหลือเบื้องต้น
5. Schedule and Reservation Apps ➢
เชื่อหลายคนต้องมีแอปฯ สำหรับจองคิว หรือบริการต่าง ๆ ในมือถือแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร สปา ร้านทำผม ตั๋วภาพยนตร์ ฯลฯ สำหรับในบ้านเรา เช่น แอปฯ QueQ ที่ใช้ได้ทั้งการจองร้านอาหาร จองคิวตรวจ โควิด-19 จองคิวธนาคาร หรืองานอีเวนท์ต่าง ๆ
6. Shopping Apps ➢
แอปฯ ที่มาแรงสุด ๆ ต้องยกให้แอปฯ ชอปปิง ที่ใช้งานได้ทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada หรือแม้แต่ฟีเจอร์ LINE Shopping ในแอปฯ LINE ก็ล้วนดึงดูดนักช้อปให้ใช้งาน มีร้านค้าตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปถึงร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย มีระบบติดตามสินค้า และมีโปรโมชันเด็ด
ธุรกิจประเภทไหนที่เหมาะกับการใช้แอปพลิเคชัน
นอกจากการใช้แอปฯ ในชีวิตประจำวัน คุณอาจคิดว่าการมีแอปฯ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรไม่น้อย แต่จริง ๆ แล้ว การมีแอปฯ อาจเป็นการตัดสินใจที่สร้างผลกำไรให้องค์กรที่สุด
มาดูกันว่าธุรกิจไหนที่ควรมีแอปพลิเคชัน 💲
ธุรกิจค้าปลีก 🛍️
ปัจจุบันร้านค้าปลีกหลายแห่งมีแอปฯ เป็นของตัวเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการซื้อผลิตภัณฑ์ หรือบริการจากธุรกิจ ซึ่งลูกค้าสามารถติดตามการจัดส่ง และรับโปรโมชันที่หาจากหน้าร้านไม่ได้ นอกจากนี้ แอปฯ ยังช่วยให้แบรนด์ถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น และลูกค้าก็รับข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว
ธุรกิจอาหาร หรือร้านอาหาร 🍛
ยุคนี้ร้านอาหารไม่ได้มีแค่เมนูแบบรูปเล่มที่พรีเซนต์อาหารได้ เมื่อผู้คนต้องการความรวดเร็ว การมีแอปฯ จะช่วยให้ลูกค้าเลือกเมนูที่ต้องการ จองที่นั่ง และสั่งอาหารได้ก่อน พอไปถึงร้านจะไม่เสียเวลารอ และทางร้านก็ให้บริการลูกค้าได้เร็วขึ้น
โรงพยาบาล 🏥
ณ วันนี้แทบจะทุกโรงพยาบาลต่างมีแอปฯ เป็นของตัวเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ ทั้งการนัดหมาย แจ้งผลตรวจ การชำระเงิน และให้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์การพบแพทย์ออนไลน์อีกด้วย
โรงแรม 🏙️
แอปพลิเคชันของโรงแรมส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้บริการเช็คห้องว่าง จองที่พัก เช็คอิน-เช็คเอาท์ แสดงแผนที่และเส้นทางการเดินทาง และมีข้อเสนอส่วนลดพิเศษให้แก่ผู้เข้าพัก
ธนาคาร 🏟️
ถือเป็นอีกหนึ่งแอปฯ ที่ต้องมีติดเครื่อง เพราะแอปฯ ธนาคารช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้มาก ไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร แค่มีแอปฯ เราก็เช็คยอดเงิน โอนเงิน จ่ายบิล ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น ฯลฯ ได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นแอปฯ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
ธุรกิจท่องเที่ยว 🚝
แอปฯ ท่องเที่ยวในที่นี้ไม่รวมการจองโรงแรมหรือที่พัก แต่เป็นแอปฯ เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว การจองกิจกรรม หรือบัตรเข้าสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ อีเวนท์ การแสดง หรือทริปสั้น ๆ ซึ่งผู้ใช้จะได้รับดีลส่วนลดพิเศษเมื่อจองในแอปฯ
แนวโน้มการใช้แอปฯ บนมือถือมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ธุรกิจที่ปรับตัวได้ไว และลงมือทำก่อนย่อมมีความได้เปรียบ