หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ.)

สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์

หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560

สถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ประชากร และระบาดวิทยาเป็นผลจากการเจริญทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การสาธารณสุข การเคลื่อนย้ายของแรงงานระหว่างประเทศ ทำให้อาจเกิดผลกระทบต่อระบบการสาธารณสุขของประเทศไทย เช่น การเกิดโรคระบาด โรคระบาดใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ในด้านการศึกษาเพื่อการรองรับการเคลื่อนย้ายประชากรในวัยเรียน ดังนั้น จึงต้องกำหนดหลักสูตรให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตร และตลาดแรงงาน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558 ร่าง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ของสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 สภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนและแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการรวมกลุ่มประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยมีการเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นเครือข่าย เช่น การเปิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนมีอิสระสามารถเดินทางเข้าและออกภายในกลุ่มประเทศได้ง่ายมากขึ้น ก่อให้เกิดการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างเสรี สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องคำนึงทางด้านสาธารณสุข คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการอพยพเข้ามาของแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โรคระบาดต่าง ๆ รวมถึงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ความเพียงพอต่อทรัพยากรอาหาร รวมถึงความทั่วถึงในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ จึงนับว่ามีความสำคัญต่อประเทศ

สถานการณ์หรือการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม

เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ร่วมกับมีการรับวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมหลายด้านของคนไทย ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในสังคมยุคใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสาธารณสุขเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมของไทย เน้นการส่งเสริมดูแลสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ในเชิงรุก เช่น มีการจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบสุขภาพร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ (District Health System Management Learning: DHML) หรือในขณะเดียวกันสามารถนำความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสุขภาพของประชาชน