ปรัชญา

การศึกษาคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) วิถีคิดใหม่สู่คุณค่าของการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาอย่างมีความหมายและยั่งยืน

ความสำคัญ

“ประถมศึกษา” เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและเป็นการศึกษาภาคบังคับที่ทุกคนจะต้องเรียน เป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างลักษณะพัฒนาการของผู้เรียนด้วยการอบรมสั่งสอน  มุ่งให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นสำคัญ มุ่งปลูกฝังคุณธรรม และปรับปรุงตนเองให้มีการดำเนินชีวิตในสังคม ตลอดจนมุ่งฝึกฝน อบรม    ขัดเกลาให้ผู้เรียนพัฒนาด้านต่างๆ ครบทุกด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ จากหลักการประถมศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ของครูประถมศึกษามีความสำคัญยิ่ง และจำเป็นต้องมีคุณลักษณะและบทบาทเฉพาะพิเศษที่จะสามารถส่งเสริมและสร้างพัฒนาการของผู้เรียนระดับนี้ได้

การจัดการศึกษาของสาขาวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงมุ่งผลิตบัณฑิตครูประถมศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนามิติด้านจิตใจและจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู มีความตระหนักในคุณค่าของการศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ด้วยความเท่าทันของการเปลี่ยนแปลงของโลก  มีความสามารถประยุกต์ใช้ศิลป์แห่งการจัดการเรียนรู้และจัดประสบการณ์ระดับประถมศึกษาโดยบูรณาการความรู้อย่างเป็นองค์รวม  สามารถอบรมบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนเป็นนักวิชาการที่พร้อมด้วยคุณธรรม มีความรอบรู้  มีความสามารถในการเป็นผู้นำ สามารถริเริ่มและพัฒนานวัตกรรมจากการใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐานในการสร้างองค์ความรู้ และเป็นผู้นำการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงผู้เรียนและสังคมไปสู่สภาพที่พึงประสงค์

วัตถุประสงค์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประถมศึกษา มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 และตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552  โดยมีวัตถุประสงค์ของหลักสูตร คือ

1. มีความเป็นผู้นำทางการประถมศึกษา มีความรักและความศรัทธาในวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีจรรยาบรรณ และมีบุคลิกภาพเป็นแบบอย่างที่ดีเหมาะสมกับความเป็นครู

2. มีความรอบรู้ ใฝ่รู้ในศาสตร์หลายสาขาและศาสตร์สาขาวิชาเฉพาะ และประยุกต์ใช้องค์ ความรู้และนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการประถมศึกษา

3. มีความสามารถจัดการความรู้และการเรียนรู้อย่างบูรณาการ  โดยใช้หลักการวิเคราะห์  สังเคราะห์ ประเมินค่า มีความคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ และคิดแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

4. มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตสำนึกในการทำงานเพื่อสังคม เคารพในความแตกต่าง และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร

5. มีความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารความรู้และความคิด  และสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างบูรณาการและสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา การจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพบริบทของการเปลี่ยนแปลง และสามารถพัฒนาหลักสูตรระดับประถมศึกษาได้อย่างมีความหมาย