ปรัชญา
มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีทักษะและความเชี่ยวชาญ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูลได้อย่างเหมาะสม เพื่อการนำเสนอสารสนเทศที่มีคุณภาพ ภายใต้จรรยาบรรณตามหลักวิชาการและวิชาชีพ

ความสำคัญ
ปัจจุบันการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
และต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผน การบริหารจัดการ การติดต่อสื่อสาร การอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน หรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การปฏิบัติงานขององค์กรมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์สร้างนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือปฏิบัติงานตามองค์กรต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่เพียงเครื่องมือสนับสนับสนุนการทำงานเท่านั้น แต่เป็นการหลอมรวมเข้ากับชีวิตคนอย่างแท้จริง และส่งผลให้เกิดเปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และกระบวนการทางสังคมอื่น ๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงที่กระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศและการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของการพัฒนาประเทศไทย ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นภายใน 20 ปีนับจากนี้ จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่จะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่ฉลาด รู้เท่าทันสื่อ และเท่าทันโลกแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดภูมิทัศน์ดิจิทัลเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและเป้าหมาย 4 ระยะ ได้แก่
1) ลงทุน และสร้างรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
2) ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ตามแนวประชารัฐ
3) ก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ และ 4) สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา 6 ด้าน คือ
1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
2) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
3) สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง และเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
4) ปรับเปลี่ยนภาครัฐ ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
5) พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
6) สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศ ยกระดับคนไปสู่สังคมฐานความรู้ ให้มีความสามารถ สามารถขยับไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยี หรือรู้จักใช้เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในการประกอบอาชีพมากขึ้น บุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในสังคมยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ โครงสร้างกำลังคนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก งานหลายประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม โรงงาน และบริการ จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถทำได้ดีกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า ขณะเดียวกันก็จะมีงานรูปแบบใหม่ที่ต้องใช้ความรู้และทักษะที่สูงขึ้น นอกจากนี้งานบางประเภทอาจต้องเปลี่ยนบทบาทไป ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้เพิ่มมากขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน และมีผู้สำเร็จการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งจากระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาจำนวนไม่น้อย แต่ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอีกมากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีทักษะสูงหรือทักษะเฉพาะด้าน โดยสายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ใน 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการในทุกระดับตำแหน่งงาน และ 10 อันดับสายงานที่มีเงินเดือนมากที่สุดในระดับเจ้าหน้าที่ทั่วไป
สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะเป็นหน่วยงานของสถาบันการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะเฉพาะด้านทางเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูลที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และท้องถิ่น

1.3  วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล ที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1)  มีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งมีวินัย คุณธรรม จริยธรรม ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
2)  มีความรู้ในหลักการ และทฤษฎีของศาสตร์ที่ศึกษา
3)  มีทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา สามารถประยุกต์ความรู้ในศาสตร์ที่ศึกษาเพื่อการแก้ปัญหารวมถึงการเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม
4)  มีความเข้าใจและรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
5)  สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล เพื่อการสื่อสารในยุคสังคมดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลขในรูปแบบที่หลากหลาย