หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.)

สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมการผลิตและโลจิสติกส์

หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560

ปรัชญา

“ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรม  มีความรู้ความสามารถที่บูรณาการระหว่างความรู้ทางด้านวิศวกรรมการผลิต ด้านวิศวกรรมโลจิสติกส์ และด้านการจัดการ   เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) ที่กำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องยกระดับผลิตภาพการผลิตและการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในระบบการผลิต และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม การเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าและการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาฐานเศรษฐกิจแห่งอนาคตภายใต้กรอบการปฏิรูปและพัฒนาปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ทุกด้านอันได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการพัฒนาทุนมนุษย์ จากสถานการณ์หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าว จึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนหลักสูตรเพื่อเตรียมพร้อมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การบริหารจัดการองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อผสมผสานกับจุดแข็งในสังคมไทย การพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองความสามารถในการแข่งขันจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางด้านการจัดการวิศวกรรมการผลิตและโลจิสติกส์

สถานการณ์หรือการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม

การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และการเรียนรู้ ดังนั้นการพัฒนาคนนอกจากพัฒนาให้มีความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดจากการพัฒนาดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องมีจิตสำนึกที่ดีต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม คำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีการเรียนรู้และเข้าใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบที่เหมาะสมกับวิถีสังคมไทย

การพัฒนาหลักสูตร

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีบทบาทในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพในยุคของการแข่งขัน จำเป็นต้องบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมการผลิต วิศวกรรมโลจิสติกส์ และการจัดการเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและแก้ปัญหาการทางด้านอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะความรู้ทางด้านการจัดการวิศวกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้เท่าทันกับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา การพัฒนาหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ให้มีความสอดคล้องและทันกับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของสถานประกอบการของภาคอุตสาหกรรม สังคม ท้องถิ่น และประเทศไทย

ความเกี่ยวข้องกับพันธกิจของสถาบัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพโดยมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และมีคุณภาพตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา เน้นให้มีคุณธรรม มีสุขภาพอนามัยดี มีทักษะวิชาการ มีทักษะทางภาษา และเทคโนโลยี มีจิตอาสา สู้งาน/รักงาน และมีทักษะการทำงาน มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพงาน สังคมที่เปลี่ยนแปลง และบริบทของอาเซียนและนานาชาติ หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ จึงเป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่บูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning : WIL) เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้ปฏิบัติงานจริงในภาคการผลิต โดยการจัดการเรียนการสอนจัดให้มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ และการทำวิจัยในสถานที่ปฏิบัติงานจริง

การบริหารจัดการ

การบริหารจัดการเรียนการสอนจะมีระบบประสานงานร่วมกันระหว่างหลักสูตรและคณะฯ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตร โดยมีอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรประสานงานกับอาจารย์ประจำหลักสูตรและอาจารย์จากสาขาวิชาอื่นหรือคณะอื่นที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเนื้อหาสาระ หน้าที่ความรับผิดชอบในการสอน มีการบูรณาการการใช้ศักยภาพบุคลากรในหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ร่วมกับหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อโลจิสติกส์อุตสาหกรรม และผลิตบัณฑิตเพื่อให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการประจำหลักสูตรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ และอาจารย์ผู้สอน ซึ่งอยู่ต่างสาขาวิชาหรือต่างคณะ เพื่อกำหนดเนื้อหาและกลยุทธ์การสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผล ทั้งนี้เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้บรรลุผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร